บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กำหนดนโยบายความยั่งยืนองค์กรในปี 2565 ด้วยความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และตอบรับบริบทความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต บนพื้นฐานความสมดุลของสิ่งแวดล้อม สังคม ธุรกิจและการกำกับดูแล ซึ่งสนับสนุนให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นสร้างสรรค์ความเป็นเลิศ เพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย”
ส่งมอบความสุขผ่านประสบการณ์การเดินทางที่ประทับใจ
บริษัทฯ พิจารณาคุณค่าที่ส่งมอบแก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งผสานกับความบูทีค อันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทฯ โดยการส่งมอบคุณค่านี้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ
บริษัทฯ ได้ทบทวนห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม สรุปเป็น 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
บริษัทฯ กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรในปี 2565 ที่ได้จากการวิเคราะห์ประเด็นด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ร่วมด้วยบริบทที่เป็นสาระสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม ธุรกิจและการกำกับดูแล ผ่านกระบวนการดังนี้
1.1 ข้อมูลภายใน ได้แก่ ทิศทางขององค์กร ห่วงโซ่คุณค่า ประเด็นสำคัญจากการทำเวิร์คช็อปร่วมกันของคณะทำงานความยั่งยืนองค์กร และความเสี่ยงองค์กร
1.2 ข้อมูลภายนอก ได้แก่ แนวโน้มและทิศทางความยั่งยืนระดับสากล ความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทฯ นำประเด็นด้านความยั่งยืนที่ได้รับการจัดกลุ่มมาพิจารณาลำดับความสำคัญ ตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละ ด้าน ประกอบด้วย ผลกระทบด้านการเงิน ลูกค้า การหยุดชะงักทางธุรกิจ ชื่อเสียง/ ภาพลักษณ์ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยอ้างอิงเกณฑ์การ ประเมินความเสี่ยงระดับองค์กร
ประเด็นความยั่งยืนที่ได้จากการวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญแล้ว ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 และสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ โดยกำหนดการทบทวนปีละ 1 ครั้ง
สรุปประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนปี 2565
จากการสรุปประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน นำมาสู่การกำหนดกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน ดังนี้
วัตถุประสงค์: เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการบันทึก วัด วิเคราะห์ และจัดเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการประมวลผล และนำไปสู่การตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม
วัตถุประสงค์: เพื่อยกระดับการเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กร ด้วยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ และจัดการความรู้อย่างเป็นรูปธรรม พัฒนาศักยภาพในการทำงานของพนักงาน ภายใต้บริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง
วัตถุประสงค์: เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
บริษัทฯ พิจารณาประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของธุรกิจ กับความสอดคล้องในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) สรุปรวม 8 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 6 (Clean Water and Sanitation) SDG 7 (Affordable and Clean Energy) SDG 8 (Decent Work and Economic Growth) SDG 11 (Sustainable Cities and Communities) SDG 12 (Responsible Comsumption and Production) SDG 13 (Climate Action) SDG 16 (Peace Justice and Strong Institution) และ SDG 17 (Partnerships for the Goals)
“Unlabeled Bottled Water” หรือ “ขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก” (ใช้วิธีปั๊มนูนรายละเอียดต่าง ๆ ลงบนขวดแทนการใช้ฉลากพลาสติก) ซึ่งบริษัทฯ ให้บริการบนเที่ยวบินในปี 2565 เป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นไปได้ง่าย เนื่องจากไม่ต้องนำมาผ่านกระบวนการคัดแยกฉลาก ทั้งนี้ หากอ้างอิงจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการเที่ยวบินในปี 2565 เทียบได้ว่าการใช้ขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก ช่วยลดปริมาณการผลิตฉลากพลาสติกได้เป็นจำนวนมากกว่า 3 ล้านชิ้น
เป็นโครงการต่อยอดโดยพนักงานของบริษัทฯ จากหนี่งในโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร ภายใต้ชื่อ “โครงการ PG Innovation Award Project (Season 2) - 2019”
ระบบนี้เป็นศูนย์รวม One Stop Services สำหรับนักบินในการดูข้อมูลที่สำคัญก่อนการปฏิบัติการบิน อาทิ การตรวจสอบข้อมูลการอบรมวิชาเฉพาะต่าง ๆ ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กำหนดให้เป็นระเบียบข้อบังคับ การขอเอกสารผ่านทางแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบด้านการบินในเรื่องการใช้น้ำมัน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และเพิ่มความรอบคอบในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นเป้าหมายอันสูงสุด
ประโยชน์จากการพัฒนาระบบ Pilot World Application ใช้ในองค์กร
ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อระบบบริหารคุณภาพในการให้บริการขององค์กร โดยร่วมกันพิจารณาและกำหนดนโยบายคุณภาพ (Quality Policy) ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ บริบท และกลยุทธ์ในธุรกิจสายการบินขององค์กร และสอดคล้องกับกฏหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายการบิน รวมทั้งเป็นกรอบในการกำหนดวัตถุประสงค์คุณภาพ (Quality Objectives) ระดับองค์กร เพื่อเป็นเป้าหมายการควบคุมคุณภาพการให้บริการตามระบบบริหารคุณภาพขององค์กร
ทั้งนี้ นโยบายคุณภาพ (Quality Policy) ขององค์กรมีการจัดทำเป็นเอกสารคุณภาพและให้ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งมีระบบการควบคุมเอกสารคุณภาพตามข้อกำหนดระบบบริหารคุณภาพ และระบบการสื่อสารเพื่อให้พนักงานรับทราบและเข้าใจทั่วทั้งองค์กร รวมถึงพร้อมในการเผยแพร่ข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นอกจากนี้ นโยบายคุณภาพ (Quality Policy) ขององค์กร ได้รับการพิจารณาทบทวนจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อการปรับปรุงพัฒนาระบบการทำงานและระบบบริหารคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ตามข้อกำหนดระบบบริหารคุณภาพที่องค์กรประยุกต์ใช้
ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีการกำหนดหลักการ รูปแบบ และวิธีการจัดทำเอกสารคุณภาพขององค์กร เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการจัดทำไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งบริษัทฯ มีการออกแบบพัฒนาระบบควบคุมเอกสารคุณภาพขององค์กรเอง (ระบบ PGE-ISO) เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงและมีความเข้าใจในเอกสารการปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งสอดคล้องตามข้อกำหนด ISO 9001:2015 และมาตรฐานอื่นที่บริษัทฯ ขอการรับรองและประยุกต์ใช้
การตรวจสอบภายในองค์กร ครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายการบินของบริษัทฯ อาทิ การตรวจสอบด้านมาตรฐานความปลอดภัย การตรวจสอบด้านระบบบริหารคุณภาพ การตรวจสอบด้านการควบคุมภายใน การตรวจสอบด้านระบบสารสนเทศ
ได้แก่ การตรวจสอบด้านมาตรฐานความปลอดภัย และการตรวจสอบด้านระบบบริหารคุณภาพ
บริษัทผู้ตรวจประเมินและให้การรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 (Certification Body/ CB) ของบริษัทฯ คือ บริษัท ยูไนเต็ด รีจิสตร้า ออฟ ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด (United Registrar of Systems (Thailand) Ltd. ซึ่งได้รับการรับรองระบบงาน (Accreditation Body /AB) อาทิ UKAS (United Kingdom Accreditation Service) และ IATF (International Automotive Task Force) รวมถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหน่วยรับรองสถานประกอบการอาหาร จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย CB บริษัท URS มีแผนการเข้าตรวจสอบกับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องตามวงรอบที่กำหนด ได้แก่
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 แม้ว่าจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่บริษัทผู้ตรวจประเมินและให้การรับรอง (Certification Body/ CB) ได้เข้าตรวจสอบด้านเอกสาร และตรวจสอบการปฏิบัติงานที่จุดปฏิบัติงานในหน่วยงานและสถานีต่างๆ (On-Site Audit) ได้ตามแผนที่กำหนด ซึ่งผลการตรวจ Surveillance Visit ของ CB บริษัท URS ในปี 2565 ไม่พบประเด็นความไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในระดับ (Non-Compliance /NC) หรือ Major Break-Down ที่มีต่อระบบบริหารคุณภาพขององค์กร ทำให้บริษัทฯ คงไว้ซึ่งการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015
นับแต่การก่อตั้ง บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้จัดทำจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ทางธุรกิจ เพื่อเป็นหลักการและแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย จรรยาบรรณกรรมการและที่ปรึกษาบริษัท จรรยาบรรณพนักงาน จรรยาบรรณต่อผู้มีส่วนได้เสีย การรายงานการทำผิดกฎหมายและการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ และการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส โดยชื่อเสียงของบริษัทฯ ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับบริษัทฯ จรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ทางธุรกิจนี้ จะช่วยส่งเสริมให้มีการนำค่านิยมและหลักปฏิบัติมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2565 บริษัทฯ ได้จัดทำ “แบบทดสอบความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ทางธุรกิจ” และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานร่วมทำแบบทดสอบ เพื่อส่งเสริมหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ และเป็นไปตามนโยบายความยั่งยืนองค์กร โดยมีการบันทึกผล เป็นประวัติการฝึกอบรมของพนักงาน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่มีกรณีฝ่าฝืนจรรยาบรรณธุรกิจในปี 2565
เป้าหมายของบริษัทฯ เกี่ยวกับงานชุมชนสัมพันธ์ คือ “การมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรอบสนามบินและเส้นทางที่บริษัทฯ ทำการบิน” ผ่าน 5 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยมีการดูแล ติดตาม และปรับปรุงกระบวนการของบริษัทฯ ที่อาจเป็นความเสี่ยงให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับชุมชน รวมถึงการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับชุมชน และการร่วมพัฒนาชุมชน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
การมีส่วนร่วมกับชุมชนที่บริษัทฯ ดำเนินการในปี 2565 มีดังนี้
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจสนามบินและสายการบินเพื่อการพาณิชย์ จัดอยู่ในประเภทโครงการขนส่งทางอากาศ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่น ๆ แล้วเรียบร้อย
จากมติเห็นชอบโครงการสนามบินของบริษัทฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด เป็นผลให้สนามบินต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด เป็นประจำทุก 6 เดือน โดยการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมใน 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการจะต้องติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น คุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำใต้ดิน ทรัพยากรสัตว์ป่า ทรัพยากรชีวภาพแหล่งน้ำ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม/ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการปฏิบัติตามมาตรการ จะทำให้สนามบินรับรู้ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการสนามบิน มากน้อยเพียงใด และทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
เกี่ยวกับประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญ ในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการบิน โดยปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินโครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ในระดับนานาชาติ บริษัทฯยังได้เข้าร่วมโครงการ Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ของ ICAO เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และบริษัทฯ ได้มีการศึกษาการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon Emission หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2050
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนดำเนินการในขอบเขตอื่น ๆ เช่น การศึกษาการใช้พลังงานหมุนเวียน การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร อีกทั้งริเริ่มศึกษาโครงการ Upcycling อาทิ ชุดยูนิฟอร์มพนักงาน โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่และนำกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการ Upcycling ขยะชุมชน เช่น เปลือกหอยนางรม (พื้นที่ทดลอง ณ ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด) โดยออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้ชุมชน
สำหรับ “โครงการ Care the Bear” ที่บริษัทฯ เข้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มในปี 2561 กระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งในรูปแบบ Online หรือ Onsite โดยนำหลักการ 6 Cares มาออกแบบเพื่อประเมินผล วัดผล และสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนนั้น ในปี 2565 บริษัทฯ มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับโครงการฯ 39,115.64 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของต้นไม้ 4,346 ต้น